top of page

ภูมิชนคนหาดเสี้ยว

  • Writer: Pathomland The Magazine
    Pathomland The Magazine
  • Dec 4, 2017
  • 1 min read

ห่างจากเมืองเก่าสุโขทัยขึ้นมาทางเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งชุมชนบ้านหาดเสี้ยวหรือตำบลหาดเสี้ยว ซึ่งถือเป็นแหล่งภูมิปัญญาแห่งหนึ่งในอำเภอศรีสัชนาลัย ด้วยเหตุที่ว่า ชาวบ้านที่นี่มีเชื้อสายไทยพวน บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นชาวลาวที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบาง ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังคงมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานหัตถกรรมเกี่ยวกับการทอผ้าทั้งหลาย อย่างผ้าซิ่นตีนจกที่เป็นที่เลื่องลือว่าไม่มีที่ไหนจะเทียบได้ และผู้คนส่วนใหญ่ยังคงดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิม ดังอัตลักษณ์ของชาวชุมชนบ้านหาดเสี้ยวที่ว่า “ว่างจากหน้านา หญิงทอผ้า ชายตีเหล็ก”

ในอดีต วิถีชีวิตของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ก็ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ หรือเรียกได้ว่าประกอบกสิกรรมเช่นเดียวกับพื้นเพของบรรพบุรุษไทยทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ แต่เมื่อว่างงานหรือหมดฤดูทำนาแล้ว หนุ่มสาวหรือแม้แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ของที่นี่จะมีกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ กระทำสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นั่นก็คือการทอผ้าและการตีเหล็ก ถือได้ว่าเป็นงานอดิเรกของทุกครัวเรือนที่นี่เลยละครับ

แน่นอนว่าการทอผ้าตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง สาวๆ ที่นี่เขานิยมทอผ้านุ่งห่มกันเอง ไม่ว่าจะนุ่งอยู่ที่บ้านหรือนุ่งออกงานก็ตาม โดยในเวลากลางคืนหลังจากที่ทุกคนเสร็จจากภาระงานที่บ้านแล้ว หญิงสาววัยรุ่นก็จะนำเอาฝ้ายพร้อมด้วยอุปกรณ์การทำฝ้ายมารวมกลุ่มกันเป็นพวกๆ แต่ละพวกก็มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน วิธีการต่อจากนี้ก็คือการจุดไฟไว้ตรงกลางแล้วนั่งล้อมวงกันทำ มือก็ทำไปปากก็พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน บางครั้งก็มีฝ่ายชายรุ่นราวคราวเดียวกันมาเที่ยวหาและพูดคุยด้วย ก็ยิ่งเพิ่มความสนุกสนานมากขึ้นทวีคูณ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครเกียจคร้านมาร่วมกิจกรรมนี้หลังทานอาหารเย็นเสร็จ ต่างคนต่างรีบมา ใครมาก่อนก็จุดไฟไว้คอยเพื่อน ไม่มีการเกี่ยงงอนหรือเอารัดเอาเปรียบกัน ฟืนสำหรับจุดไฟนั้น ก็เป็นฟืนที่สาวๆ พร้อมใจกันไปหามาจากป่าในเวลากลางวัน โดยมีลักษณะเป็นไม้ไผ่แห้งตายซาก เรียกว่า ‘หลัว’ พากันไปหามาครั้งหนึ่งก็มีพอใช้ไปหลายวันเลยล่ะครับ ส่วนการร่วมกันทำฝ้ายเช่นนี้ เราเรียกกันว่า ‘การลงข่วง’ ครับ

ส่วนสาวใหญ่ที่มีอายุพอสมควรซึ่งมีความชำนาญในการทอผ้าแล้ว ก็มีหน้าที่นำด้ายที่ได้จากการทำฝ้ายของเหล่าหญิงสาววัยรุ่นมาถักทอเป็นผ้า แต่ด้วยความที่ที่ทอผ้ามีขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งไม่เหมาะที่จะนำมานั่งล้อมวงทำกันกลางแจ้ง จึงต้องตั้งที่ทอผ้าไว้ที่เรือนของตนและทอผ้ากันที่นั่นเสียเลย และสิ่งที่พวกเธอถักทอกันออกมา ปัจจุบันก็ได้กลายเป็นของขึ้นชื่อของตำบนหาดเสี้ยวและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

‘ผ้าซิ่นตีนจก’ คือผลลัพธ์ของการถักทอที่ผมได้ล่าวไปเมื่อสักครู่ ซึ่งคำว่า ‘จก’ เป็นศัพท์ในแวดวงการทอผ้า หมายถึงการนำขนเม่นมาแยกเส้นด้ายยืนเส้นหนึ่งออกเป็นสองส่วน แล้วควักเอาด้ายที่อยู่ด้านล่างขึ้นมาด้านบน จากนั้นแยกด้ายยืนอีกเส้นมากดไว้แล้วนำเส้นที่เราควักขึ้นมานั้นสอดลงไปยังช่องว่างระหว่างด้ายยืนเส้นที่สอง ทำเช่นนี้ไปตลอดความกว้างของเส้นด้าย เสร็จแล้วนำมาต่อกับตีนผ้า เย็บติดต่อกันจนเป็นผ้าซิ่นสำเร็จรูป ก็เป็นอันว่าพร้อมนุ่ง

ฟังดูน่าฉงนใช่ไหมครับ?

แต่วิธีนี้แหละครับที่ทำให้ได้ผ้าซิ่นที่มีลวดลายงดงามเป็นเอกลักษณ์ ให้สาวๆ นุ่งไปออกงานอีเว้นท์ที่ต้องพบปะผู้คนได้อย่างไม่อายใคร เพราะด้วยความที่กว่าจะเป็นผ้าซิ่นหนึ่งผืนนั้น ต้องอาศัยทั้งความเพียรพยายาม ความละเอียดลออ และเวลาที่มากโข ผ้าซิ่นตีนจกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความขยันหมั่นเพียรและแสดงถึงความเป็นสาวโดยสมบูรณ์นั่นเอง

ฝ่ายชายก็ไม่น้อยหน้า ก้มหน้าก้มตาตีเหล็กตามอัตลักษณ์วรรคที่สองด้วยความตั้งใจ โดยในระยะแรกเป็นการตีเหล็กสำหรับทำเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนเท่านั้น อาทิ ขวาน จอบ เสียม พร้า มีด กระต่ายขูดมะพร้าว ซึ่งสมัยก่อนต้องนำหินที่มมีแร่เหล็กมาถลุงให้ได้เนื้อเหล็กเสียก่อน แล้วจึงนำไปขึ้นรูปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในระยะต่อมามีคนนิยมใช้ขวาน มีด พร้า จอบ เสียม ที่ทำขึ้นในท้องถิ่นนี้มากขึ้น จึงมีการทำเป็นอุตสาหกรรมประจำบ้านแล้วนำไปขายตามงานเทศกาล งานวัดต่างๆ บ้าง หรือมีผู้มารับซื้อไปขายยังท้องถิ่นอื่นบ้าง จนกระทั่งถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งตีมีดที่มีชื่อเสียงโด่งดังตีคู่ไปกับแหล่งตีมีดดาบน้ำพี้ของจังหวัดอุตรดิตถ์เลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังคงมีการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบฉบับออริจินัล แต่ก็เหลือน้อยเต็มทน ถึงขั้นที่สามารถทำให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกฝังกลบให้สูญหายไปด้วยความเจริญทางสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้เขียนจึงอยากบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งภูมิปัญญาแห่งนี้ ที่มีนามว่า “ตำบลหาดเสี้ยว”


 
 
 

コメント


bottom of page