top of page

เป็นครูคณิตฯอย่างเต็มที่ เป็นจินตกวีอย่างเต็มใจ

มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก          

สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข

              จากคำขวัญอันแสดงถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมของจังหวัดสุโขทัยข้างต้น  หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นฝีมือการประพันธ์ของนักเขียนหรือจิตกวีมืออาชีพ   แต่เปล่าเลย  เพราะคำขวัญข้างต้นเป็นผลงานของครูสำราญ  สีแก้ว  ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา  และทีมงานต้องการเผยแพร่ข้อมูลส่วนนี้เพราะแม้แต่เด็กๆในโรงเรียนของคุณครูสำราญ  ก็แทบจะไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าคำขวัญที่พวกเขาท่องกัน   มีที่มาจากครูในโรงเรียนของเขานั่นเอง  เราจึงพาทุกท่านมารู้จักกับครูท่านนี้กันครับ

Q: อยากทราบประวัติคร่าวๆของครูสักนิดครับ?

A : ครูเป็นเด็กบ้านนอก เกิดที่ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ครูเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา และครูได้รับการบรรจุแต่งตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2532 จนปัจจุบันก็ได้มาสอนที่นี่

Q: พวกเราทราบมาว่าครูนั้นได้แต่งคำขวัญ ซึ่งเป็นคำขวัญของจังหวัดสุโขทัยที่พวกเราได้รู้จักกัน อยากทราบว่าครูคิดอย่างไร  ทำไมขณะนั้นถึงต้องเปลี่ยนคำขวัญของจังหวัดสุโขทัยครับ?

A: ปีพ.ศ. 2538  ครูได้ทราบข่าวจากทางจังหวัดผ่านหนังสือพิมพ์ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยในสมัยนั้นต้องการเปลี่ยนคำขวัญของจังหวัดสุโขทัย  ครูก็เลยมีโอกาสเขียนส่งไปเพราะชอบและถนัดทางบทกลอนอยู่แล้ว  อีกทั้งยังได้รับการคัดเลือกเป็นต้นแบบของคำขวัญจังหวัดสุโขทัย  แล้วคณะกรรมการก็นำมาขัดเกลาเพิ่มเติมต่างๆให้ครบความของจังหวัดสุโขทัย

Q: ด้วยความที่คำขวัญเก่าก็มีอยู่แล้ว เพราะอะไรผู้ว่าฯถึงต้องเปลี่ยนคำขวัญใหม่เป็นของครูครับ?

A: ความแตกต่างก็คือ คำขวัญเดิมใจความไม่ครบตามของดีในจังหวัด เช่น ทองโบราณ ผ้าตีนจก เป็นต้น และเนื่องด้วยสุโขทัยเป็นเมืองมรดกโลกในปีพ.ศ. 2534  ครูจึงใช้คำว่ามรดกโลกเปิดหัวอีกทั้งคำว่ารุ่งอรุณแห่งความสุขอันเป็นความหมายของชื่อจังหวัดปิดท้าย  ข้างในคำขวัญครูต้องการสื่อให้เห็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัยที่เกิดจากแต่ละอำเภอด้วย

 

 Q: นอกจากการสอนและแต่งคำขวัญจังหวัดสุโขทัยแล้ว ครูมีผลงานการเขียนอย่างอื่นอีกไหมครับ?

A: มีการแต่งหนังสือของประวัติเมืองสวรรคโลกที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับสวรรคโลก  หลวงปู่สวรรค์วรนายก และรวบรวมภาพเก่าๆที่หายากของเมืองสวรรคโลกมาอธิบายภาพด้วยบทกลอนต่างๆ  อีกเล่มคือชีวิตบนเส้นด้ายของกลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ในภายหลังกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับยกย่องให้เป็นเยาวชนต้นแบบ   หนังสือเล่มนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดต่างๆ  นอกจากนี้ยังได้ร่วมแต่งบทอาขยานของอำเภอสวรรคโลกที่ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติชาวสุโขทัย 

                             

Q: และเราก็ยังทราบมาอีกว่า เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่9 เสด็จยังเมืองสวรรคโลกในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน  หลังจากเหตุการณ์นั้นมา  ก็เริ่มไม่มีใครจำข้อความที่แน่ชัดได้ว่าในหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่าอย่างไร  ครูได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไรครับ?

A:ในปีพ.ศ.2519 ครูเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  ก็สนใจและอยากทราบว่าในหลวงรัชกาลที่9 ได้ตรัสว่าอย่างไรเลยทำหนังสือขอพระราชดำรัสในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 ไปยังสำนักพระราชวัง  และได้รับการตอบกลับมาอีกทั้งแนบสำเนานั้นกลับมาด้วย

Q: สุดท้ายนี้ก็อยากให้ครูฝากข้อคิดถึงเด็กรุ่นใหม่ๆในฐานะพ่อพิมพ์ของชาติบ้างครับ?

A: ข้อนี้ไม่เห็นบอกไว้ก่อนเลย(หัวเราะ)   ในชีวิตของข้าราชการครู   ครูยึดกลอนของ ม.ล.ปิ่น มาลากุลเป็นต้นแบบ  อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องรักเด็กดูแลเด็กต้องรักมากกว่าลูกเป็น2เท่า  ผู้ปกครองทุกคนไว้วางใจเรา  เราจึงต้องดูแลให้ดีกว่าลูกของเรา ส่วนเรื่องที่อยากจะฝากคือเด็กในยุคปัจจุบันการใช้เครื่องมือสื่อสารในยุคสมัยนี้ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่าที่ควร อยากให้มองมุมกลับกันถ้าใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมันก็จะสร้างสรรค์ผลงานให้กับตัวเองและประเทศชาติต่อไปด้วย

 

 รักลูกสละแม้น     ดวงตา

 ยังส่งลูกรักมา     มอบให้

 ของเราสิรักษา     ดีสุด  ใจเอย

ของที่รับฝากไว้     จักต้อง  ทวีคูณ

                                                                                                                                            มล.ปิ่น   มาลากุล

bottom of page